ในช่วงหลายสิบปีก่อนยุคที่ทีมเซปักตะกร้อไทย เริ่มสถาปนาตัวเองเป็นเต้ยของเอเชียหรือของโลกก็ว่าได้ ช่วงเวลานั้นหนึ่งในขุนพลคนสำคัญของทีม ผู้มีลูกเสิร์ฟหลังเท้าที่โจษจันไปทั่วโลกคือ “โจ้” สืบศักดิ์ ผันสืบ

กีฬาตะกร้อนั้นถูกบรรจุในเอเชียนเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 1990 ที่ประเทศจีน แน่นอนว่าเป็นกีฬาที่ไทยตั้งความหวัง แต่ต้องอกหักพลาดท่าต่อมาเลเซียไปอย่างน่าเจ็บใจ

ความผิดหวังเกิดขึ้นติดต่อกันในอีก 4 ปีต่อมาที่ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ไทยแพ้ต่อมาเลเซียอีกครั้งได้แค่เหรียญเงิน ทำให้ต้องมีการสร้างทีมกันใหม่ โดยตั้งความหวังว่าเอเชียนเกมส์ 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพต้องกลับมาคว้าเหรียญให้ได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของสืบศักดิ์ในกีฬาเอเชียนเกมส์
ด้วยการเป็นทีมที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างนักกีฬาตัวเก๋าและดาวรุ่ง บวกกับการเล่นในบ้านในรอบชิงชนะเลิศ ทีมไทยล้างแค้นโค่นมาเลเซียได้สำเร็จ พร้อมกับการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของสืบศักดิ์ ผันสืบ
“ในเอเชียนเกมส์ครั้งแรกปี 1998 รอบชิงจัดขึ้นที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ซึ่งข้างในก็บรรจุคนได้ซัก 30,000 คน ในวันนั้นคนเต็มทั้งสนาม เรารู้สึกตื่นเต้นที่มีคนมาดูการแข่งขันเยอะมาก และเราก็ทำได้ดี” พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย กล่าว

เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ปี 1998 เป็นการจุดประกายต่อยอดให้ไทยกลายเป็นจ้าวแห่งตะกร้อ เพราะหลังจากนั้นไม่เคยพลาดเหรียญทองอีกเลย ทั้งในกีฬาเอเชียนเกมส์หรือซีเกมส์ ขณะที่ผลงานรวมของสืบศักดิ์นั้นได้มาทั้งสิ้น 7 เหรียญทอง จากการลงแข่งเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง

ภายหลังเลิกเล่นตะกร้อ สืบศักดิ์เข้ารับราชการตำรวจประจำการอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เขามีมุมมองต่อกีฬาตะกร้อที่ลุ่มลึกมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่ความสำเร็จของไทยเท่านั้น แต่อยากเห็นกีฬาตะกร้อได้รับการเผยแพร่นิยมไปทั่วโลก
โดยสืบศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้าวันหนึ่งตะกร้อไทยจะไม่ได้แชมป์หรือได้แชมป์ต่อไป แต่ตะกร้อได้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ผมว่ามันก็เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะเมื่อพูดถึงเซปักตะกร้อก็จะต้องนึกถึงคนไทย ชาติไทย เหมือนเป็นกีฬาที่เราคุ้นเคยกันมานาน ผมว่าตรงจุดนั้นมันน่าจะมีความหมายและมีความสำเร็จในตัวมันที่แท้จริงมากกว่า”