ชมวัวแดงที่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
เห็นแล้วชื่นใจ…แม่วัวแดง…พร้อมใจกันใส่ถุงเท้าสีขาว ทั้ง 4 ขา พาลูกๆ ออกมาเดินหาหญ้ากิน ใกล้ๆ หอต้นผึ้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าจำนวนของเด็กๆ มีมากเพิ่มขึ้นทุกปี ฝูงนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 โดย Aretid Nima ผู้ถ่ายภาพ โดยนับวัวแดงได้ 16 ตัว แต่ละตัวมีสุขภาพแข็งแรง อ้วนท้วน สมบูรณ์ ผิวเกลี้ยงเกลา ปลอดจากโรคลัมปี สกิน
สำหรับวัวแดง (Bos javanicus) จัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : EN) ตามรายงานการประเมินสถานภาพของ IUCN และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
วัวแดง หรือ วัวเพลาะ (Banteng) มีรูปร่างคล้ายวัวบ้าน (B. taurus) ทั่วไป แต่มีลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากวัวบ้านและกระทิง (B. gaurus) คือ มีวงก้นขาวทั้งในตัวผู้และตัวเมีย มีเส้นขาวรอบจมูก ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า “ถุงเท้า” ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ เรียกว่า “กระบังหน้า”
วัวแดง เป็น 1 ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งมีพื้นที่ ประมาณ 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสัตว์ป่าอย่างมาก ที่สำคัญเช่น วัวแดง ควายป่า เสือโคร่ง เป็นต้น
สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทั้งพืชป่าและสัตว์ป่า รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์