ช่วงระหว่างปีพ.ศ.2526-2534 มีเรื่องกล่าวขานอย่างกว้างขวางในหมู่นักตะกร้อแดนสยามเกียวกับนักตะกร้อคนหนึ่งที่เล่นตำแหน่งตัวทำ หรือ ตัวฟาด ว่ากันว่าการขึ้นฟาดของเขานั้น “โหดเหี้ยมยิ่งนัก”
หนักหน่วง เฉียบคม รุนแรงดั่งฆ้อนทุบก็มิปาน เป็นที่ขยาดหวาดหวั่นสำหรับคู่ต่อสู้ ลูกฟาดของเขานั้นคมถึงขนาดที่ว่าสร้าง “บาดแผลได้เลือด” กันเลยทีเดียว ต่างขนานนามว่านี่คือ “เพชฌฆาตหน้าตาข่าย” โดยแท้จริง
“ลูกฟาดนั้นหนักจริงๆครับ ตัวบล็อกนี่กลัวมาก คิดดูครับว่าลูกตะกร้อโดนตรงไหนตรงนั้นจะเป็นแดงเป็นปื้นเห็นเป็นรอยลูกตะกร้อประทับเลยล่ะ” พี่โจ้ สมศักดิ์ ดวงเมือง อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทยซึ่งอยู่ในยุคนั้นแจกแจงเล่าให้ฟัง
พี่นี่ต้องใส่สนับเท้าและถุงเท้ายาวๆ เพื่อเวลาขึ้นบล็อกจะได้ไม่เจ็บมาก แต่ก็ยังกันไม่ค่อยอยู่โดนสีข้างชายโครงเต็มๆ ล่ะก็ยังเห็นเป็นรูปลูกตะกร้อ แต่ถ้าไม่ใส่นะข้อเท้า หน้าแข้ง โดนเต็มๆถึงกับแตกได้เลือด นี่พูดจริงๆ ครับ” อดีตตัวฟาดร่างเล็กจากนครพิงค์สาธยายความเหี้ยมโหด
“สมัยก่อนช่วงที่ยังใช้ตะกร้อหวายลูกจะค่อนข้างหนัก เรื่องแตกได้แผลเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามจะขึ้นบล็อกต้องเซฟตัวเองโดยเฉพาะตัวบล็อกต้องใส่ถุงเท้ายาว, สนับเข่าสนับเท้า สำหรับ ดำ นั้นโดดได้สูงตีหนักมาก และบางครั้งเราเคยใช้ความสูงเน็ตวอลเลย์บอลผู้หญิงซ้อมด้วย” วีรัส ณ หนองคาย ตำนานตัวทำทีมชาติไทยเจ้าของฉายา “ซันชิโร่” อีกเสียงยืนยันพร้อมกับย้ำว่า “อย่าให้โดนหน้าเด็ดขาด” เพราะมันอันตรายมาก
“ดำ” วิรัช โพธิ์ม่วง คือจอมโหดที่ถูกยกให้เป็นตัวฟาดที่หนักที่สุดในแผ่นดิมสยาม และกล่าวถึงในข้างต้น สาวกตะกร้อในสายเลือดและแฟนกีฬาบางคนอาจจะรู้จักและเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม แต่ในยุค 5G แฟนตะกร้ออาจมีที่ยังไม่ทราบ ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน

“ดำ อำมหิต” หรือ “ดำ มหากาฬ” ฉายาที่คนวงการตะกร้อตั้งให้เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2505 ณ เมืองสองแควพิษณุโลก เขาเกิดและโตที่นี่ เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ในวัยเยาว์เด็กชายดำ ชอบกีฬายิมนาสติก แบบว่ากีฬาที่ผาดโผนจะชอบเป็นพิเศษเพราะได้ตีลังกา ต่อมาโชคชะตาฟ้าบันดาลให้มารู้จักกับ “ตะกร้อ” กีฬาที่นำพาตัวเขาได้ติดธงไตรรงค์รับใช้ชาติ

“ช่วงที่เรียนอยู่มศ.3 โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้มีงานจัดการแข่งขันตะกร้อขึ้นที่โรงเรียน ผมไปเห็นพี่ๆเขาเล่น ตีลังกาฟาดก็รู้สึกชอบและเริ่มหัดเล่นตั้งแต่ตอนนั้น”

จากนั้นเริ่มฝึกฝนฝึกซ้อมพัฒนาตัวเองเรื่อยมา โดยมี “ณรงค์ เกิดศรี” ตัวทำระดับตำนานของไทยอีกคนเป็น “ไอดอล” พรสวรรค์และความสามารถในเวลาต่อมาได้เป็น 1 ในขุนพลนักกีฬาเซปักตะกร้อนักเรียนไทยเดินทางไปแข่งขันกีฬานักเรียนแห่งอาเซียน และได้อยู่ในสังกัดของสโมสรการประปานครหลวง

“ผมชอบพี่ณรงค์ เกิดศรี เพราะเป็นตัวทำที่ฟาดครบรอบคนแรกของเมืองไทยมากความสามารถ และหลังจากที่ติดทีมนักเรียนไทยก็วางเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งจะต้องไปยืนอยู่ตรงนั้นติดทีมชาติไทยมีธงชาติติดที่หน้าอกให้ได้”

“ตระหนักอยู่เสมอว่าเรามาช้าไปหน่อย ดังนั้นเวลาฝึกซ้อมผมจะซ้อมหนักซ้อมให้มากกว่าคนอื่นๆ ติดทีมนักเรียนอาเซียนเรามีโอกาสแล้ว แต่ต้องไปให้ไกลกว่านั้น คือทีมชาติไทย และเวลาลงแข่งขันก็ต้องเล่นเต็มที่ ยิ่งหากแมตช์ไหนได้เจอนักตะกร้อดีกรีทีมชาติ ยิ่งต้องทุ่มเทมีเท่าไหร่ใส่ให้หมดเรียกว่าเกินร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ทั้งนี้ก็เพราะเราต้องแสดงศักยภาพความสามารถที่มีให้คนอื่นๆเห็น หากมีแมวมองมาดูโอกาสจะได้เข้าสู่แค้มป์ทีมชาติไทยก็จะตามมา ผลแข่งขันแพ้ก็ไม่เป็นไรนำกลับไปพัฒนาตัวเองต่อไป ผมไม่มีเคล็ดลับอะไรนอกจากฝึกซ้อมให้หนัก” เจ้าของฉายา “ดำ อำมหิต” ผู้เป็นตำนานเผยให้ฟัง

“ความเพียรของนักหวดลูกหวายจากเมืองสองแควเป็นจริง ในปี 2526 มีคัดเลือกนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทย กับโอกาสเพียงหนแรก “ดำ” ก็มีชื่อติดทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่ประเทศสิงคโปร์
ผู้เล่นไทยตำนานชุดนั้น ประกอบด้วย “แป๊ะล้ง” ภักดี แดงวัฒนไพบูลย์, ตำนาน “กราบตะกร้อ” สุรัตน์ ณ เชียงใหม่, “หักคอไก่” เกรียงไกร มุทาลัย, “ซันชิโร่” วีรัส ณ หนองคาย, เศวต ศิริธร, ชูชีพ คงมีชนม์, ณรงค์ เกิดศรี, สุธน กำกัดวงษ์, ยรรยง ตันติพานิชย์, พยนต์ ด้วงประเสริฐ, สัญชัย นาคบุรี, วิรัช โพธิ์ม่วง

ในห้วงนั้นต้องยอมรับว่า “เสือเหลือง” มาเลเซีย แข็งแกร่งจริงๆ ขณะที่ไทยกล่าวได้ว่าอยู่ในช่วงกำลังขึ้นมา ซีเกมส์บนเกาะลอดช่วงนั้นตะกร้อหนุ่มจากพิษณุโลกได้ “เหรียญเงิน” จากประเภททีมชุด ส่วนเหรียญทองจากทีมเดี่ยว ผู้เล่นไทย ประกอบด้วย สุรัตน์ ณ เชียงใหม่, ชูชีพ คงมีชนม์ และ เกรียงไกร มุทาลัย

แต่ในอีก 2 ปีต่อมา การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ปี 2528 กับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของอาเซียนหนที่สองในชีวิต “วิรัช โพธิ์ม่วง” คว้า “เหรียญทอง” มาคล้องคอได้สำเร็จเป็นเกียรติยศที่ใฝ่ฝันมาตลอดนับตั้งแต่เดินทางสู่ถนนสายนี้

“ดีใจมากครับ เป็นความรู้สึกตั้งแต่ติดทีมชาติครั้งแรกแล้ว และเมื่อได้แชมป์ซีเกมส์หนแรกยิ่งรู้สึกภูมิใจ ดีใจที่ได้รับเกียรติให้รับใช้ประเทศ ซึ่งยิ่งใหญ่มากเป็นเกียรติยศที่เราต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด ปฏิบัติตนให้สมกับสิ่งที่เราได้รับ”

มุ่งมั่นและซ้อมให้หนักคือสิ่งที่ตะกร้อเมืองสองแควยึดปฏิบัติเรื่อยมาฝึกตนเองให้แกร่งอยู่เสมอ ความสามารถบวกกับลูกฟาดที่หนักหน่วงเฉียบขาดยากที่จะต้านทานทำให้ตะกร้อเมืองสองแควได้รับโอกาสติดธงไตรรงค์ต่อเนื่องพร้อมกับฉายา “ดำ อำมหิต” ที่คนในวงการตั้งให้

“ทำอย่างไรให้เตะหนัก สำหรับผมคือ ฝึกซ้อมให้มากๆ ตรงจุดไหนทำได้ไม่ดีก็ฝึกฝน เพราะตัวทำนั้นต้องไม่พลาดทำให้ได้ในทุกจังหวะ ไม่ว่าลูกจะอยู่จุดไหนเราก็ต้องทำให้ได้ ดังนั้นสิ่งคัญเราต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญมากที่สุด”

“ยิ่งตอนซีเกมส์ ปี 2532 ที่มาเลเซีย นัดชิงชนะเลิศทีมชุดกับเจ้าภาพนั้น เต็มไปด้วยความกดดัน ไทยมีผู้เล่นเจ็บถึง 2 คนและต้องผ่าทีมสู้ ผมเล่นในทีมสามและถูกจับให้มาเล่นหน้าซ้ายตำแหน่งที่ไม่ถนัด ตอนนั้นบรรยากาศตึงเครียดยอมรับว่าตัวเองเล่นได้ไม่ฟรีไม่เป็นธรรมชาติ แต่ในหัวพยายามคิดอย่างเดียวคือ ต้องทำให้ได้” ตำนานตะกร้อเมืองสองแคว เล่าอีกหนึ่งเหตุการณ์ประทับใจให้ฟัง
ซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กัวลาลัมเปอร์ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ประทับใจแฟนตะกร้อไทยมากระทั่งทุกวันนี้ กับการที่ตะกร้อไทยบุกไปชนะมาเลเซียถึงถ้ำได้เป็นครั้งแรก ซึ่งชายที่ชื่อ “วิรัช โพธิม่วง” จำได้เป็นอย่างดี
ตำนานจอมเตะมหากาฬรับใช้ชาติถึงปี 2534 ในซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ประกาศอำลาอย่างเป็นทางการหลังร่วมศึกมา 5 ซีเกมส์
ด้วยความทื่ชื่นชอบกีฬาผาดโผนตั้งแต่เด็ก หลังจากอำลาเวทีตะกร้อในช่วงอายุ 40 ต้นๆ นั้น “ดำ อำมหิต” ก็พาตัวเองเข้าสู่สังเวียนแข่งขันรถจักรยานยนต์โมโตครอส แม้จะเคยประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสแหกโค้งชนต้นไม้ขาหัก 2 ข้าง,แขนหัก 1 ข้าง และกรามฉีก นอนเยียวยาร่วม 2 ปี แต่เมื่อหายก็ยังคงกลับไปซิ่งอีก
ปัจจุบันในวัย 58 ปี แม้จะยังซิ่งอยู่แต่จอมโหดเมืองสองแควบอกว่า ขี่เพื่อออกกำลังกายเท่านั้น เพราะจะให้ไปแข่งขันคงไม่ไหวแล้ว แต่ที่ยังจับแฮนด์มอเตอร์ไซด์อยู่ก็เพราะเป็นกีฬาที่ขอบเช่นเดียวกับตะกร้อ
“ทุกกีฬาในความคิดผม ถ้าอยากเก่งต้องฝึกซ้อม มีระเบียบวินัย ฝึกฝนให้หนักให้มากกว่าคนอื่น มีเป้าหมาย ความเก่งไม่มีจุดจบ ดังนั้นสิ่งคัญต้องขยันฝึกฝนพัฒนาตนเอง”
หัวใจสู่ความสำเร็จของ “ดำ อำมหิต” วิรัช โพธิ์ม่วง ตำนานตัวฟาดจอมโหดแห่งเมืองสองแคว
ประวัติและผลงาน
ชื่อ : วิรัช โพธิ์ม่วง
เกิด 5 ธันวาคม 2505, ชื่อเล่น : ดำ
ภูมิลำเนา : เป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก
สูง 175 ซม., ปัจจุบันอายุ 58 ปี
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
นักกีฬา ตะกร้อตำแหน่งตัวทำ
ผลงาน
-เหรียญเงิน ซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่สิงโปร์ ปี 2526
-เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ปี 2528
-เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2530
-เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปี 2532
-เหรียญเงิน ซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2534
-เหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ปี 2533