หากพูดถึงชื่อนักกีฬาตะกร้อที่ชื่อ “บุญคุ้ม ทิพวงศ์” เชื่อว่าใครๆหลายคนก็คงน้อยคนที่จะรู้จัก แต่แท้จริงแล้วนี่คือชื่อจริงของนักตะกร้อที่คนวงการต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีสำหรับ “เก่ง บ้านบะขาม” นักตะกร้อเดินสายที่มีลีลาการเล่นที่เร้าใจ ดุดัน และเป็นหนึ่งในนักตะกร้อที่ถูกยกให้เป็นเบอร์หนึ่งในวงการตะกร้อเดินสาย แต่เส้นทางของเจ้าตัวที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ด้วยต้นทุนของฐานะที่มีน้อยกว่าใคร คือเชื้อไฟที่ทำให้เขาผลักดันตัวเอง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ตะกร้อ” เพื่อต่อโอกาสตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
เริ่มต้นช้าก็ต้องวิ่งให้เร็วกว่าคนอื่น

เด็กน้อยที่เติบโตในครอบครัวชาวไร่ชาวนา ที่ อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ไม่ได้มีความฝันอะไรเลยกับกีฬา เขาเล่นเพื่อความสนุกตามพี่ชาย และไม่ได้วาดฝันอะไรไว้มากนัก การเล่นเพื่อความสนุกคือสิ่งเดียวที่เขารู้สึกกับลูกพลาสติกกลมๆนี่เอง

“ผมเกิดในครอบครัวชาวนาครับ พ่อแม่ทำนา เกิดมาก็ไม่ได้มีความสะดวกสบายอะไร จะไปโรงเรียนก็ต้องปั่นจักรยานเก่าๆ”

“กับกีฬาตะกร้อผมก็เล่นเพื่อความสนุก ไม่ได้จริงจังอะไรมาก แต่เริ่มมาอยู่กับมันมากขึ้นในช่วงอายุ 15 ปี เพราะเริ่มรู้สึกชอบมากขึ้น แต่เหตุผลสำคัญที่ผมอยากจะเอาดีกับกีฬานี้ คือ ด้วยความที่บ้านค่อนข้างยากจน สิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ ก็คือกีฬา และตอนนั้นผมตั้งใจว่าจะเล่นตะกร้อให้เก่งกว่าเดิมให้ได้ และจะใช้ตะกร้อเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสในชีวิตให้ดีกว่าเดิม”

“ตอนนั้นพ่อแม่ผมไม่มีเงิน แต่ได้เห็นพี่ๆแถวบ้านเขาเล่นตะกร้อกันแล้วก็ได้เงิน มีอนาคตที่ดี ตอนนั้นผมก็ตั้งเป้าหมายในใจเลยว่า จะใช้ตะกร้อนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็ฝึกซ้อมเรื่อยมาจนได้เล่นทีมโรงเรียนบ้านละหานนา และได้เป็นตัวแทนของอำเภอแวงน้อยเข้ามาแข่งกีฬาสพฐ.ระดับจังหวัด ในตัวเมืองขอนแก่น”

“ตอนนั้นพ่อแม่ผมไม่มีเงิน แต่ได้เห็นพี่ๆแถวบ้านเขาเล่นตะกร้อกันแล้วก็ได้เงิน มีอนาคตที่ดี ตอนนั้นผมก็ตั้งเป้าหมายในใจเลยว่า จะใช้ตะกร้อนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็ฝึกซ้อมเรื่อยมาจนได้เล่นทีมโรงเรียนบ้านละหานนา และได้เป็นตัวแทนของอำเภอแวงน้อยเข้ามาแข่งกีฬาสพฐ.ระดับจังหวัด ในตัวเมืองขอนแก่น และตอนนั้นฟอร์มของผมก็ไปเข้าตา อ.ต่อ เมธี สีละพัฒน์ แห่งบ้านบะขาม ที่ทำทีมตะกร้อรร.ขอนแก่นวิทยายน2 และถือเป็นทีมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด”

แม้จะเริ่มต้นช้า แต่ไม่ได้หมายความว่าความฝันของ “เก่ง” จะลดลง และในวัย 15 ปี เขาเองได้มาเจอโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล เมื่อเขาเองเรียนจบชั้นม.3 ที่บ้านเกิด และได้รับการชักชวนของสองพี่น้องอย่าง อ.ต่อ เมธี เเละอ.ต้น โยธิน สีละพัฒน์ ที่เป็นเจ้าของค่ายตะกร้อบ้านบะขาม ชักชวนเจ้าตัวให้มารวมทีม และแน่นอนว่าเจ้าตัวไม่รีรอที่จะตอบตกลงที่จะมาฝากชีวิตในเส้นทางตะกร้อไว้ที่นี่

“มาอยู่ที่นี่ลำบากนะ จะอยู่ได้หรือเปล่า”

“นี่คือคำชักชวนของ อ.ต่อ เมธี ที่พูดเปิดใจกับผมในตอนนั้น อาจารย์ท่านบอกว่ามาอยู่ที่นี่ไม่ได้สบายเหมือนกับที่อื่นนะ แต่ถ้าใจรักก็อยากให้มาอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นผมก็พูดกับตัวเองว่า ตอนอยู่ที่บ้านผมก็ลำบากอยู่แล้ว มันคงไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว และตอนนั้นผมตั้งใจแน่วแน่เลยว่าสิ่งเดียวที่ผมจะทำ คือ เล่นตะกร้อเก่งให้ได้ และจะไม่ให้อะไรมาเป็นอุปสรรค”
แม้จะชื่อว่า “เก่ง” แต่ในตอนนั้นไม่ได้เก่งเหมือนชื่อ เขาเองมาฝึกตะกร้อที่บ้านบะขามด้วยทักษะอันน้อยนิด เดาะตะกร้อได้เพียงไม่กี่ครั้งก็ตก จากภาพฝันที่อยากจะเอาดีเรื่องตะกร้อ กลายมาเป็นภาพที่เขาต้องวาดให้ชัดก่อนว่า “จะเล่นตะกร้อได้ดีกว่านี้อย่างไร”
“ผมเริ่มจากการเดาะตะกร้อไม่กี่ครั้งก็ตกพื้น ตอนนั้นหนักไปทางวิ่งเก็บตะกร้อมากกว่า แต่ผมถอยหลังไม่ได้ ตอนนั้นคือซ้อมหนักมากๆ ตื่นเช้าตี 5 มาวิ่ง แล้วก็มาต่อด้วยการเดาะตะกร้อขาขวา 1 พันครั้ง ขาซ้าย 1 พันครั้ง และทักษะอื่นๆที่ต้องทำทุกวัน”
จากหลักหน่วยสู่หลักสิบ จากหลักสิบสู่หลักร้อย จากหลักร้อยสู่หลักพัน “เก่ง” ใช้เวลาทั้งหมดที่มีในแต่ละวันฝึกซ้อมตะกร้อแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่หากเทียบกับเด็กๆคนอื่นๆ ในช่วงวัยเดียวกัน กับช่วงอายุ 16-17 ปี เขายังเป็นนักตะกร้อปลายแถวที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ไม่มีผลงานใดๆ

“ตอนอายุ 16-17 ปี ผมก็พอเล่นได้บ้าง แต่เวลาไปแข่งก็ยังแพ้คนอื่นๆ แต่ทุกครั้งที่แพ้ สิ่งเดียวที่ผมทำคือ กลับมาซ้อมให้มากกว่าเดิม ทำให้ดีกว่าเดิม”
“ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เน้นแข่งตะกร้อในสนามแข่งขันจริงจัง แต่จะเน้นไปเดินสายเตะตามสนามต่างๆ ในรูปแบบเตะเดี่ยวกัน แต่ตอนนั้นก็เหมือนเดิมไปแข่งที่ไหนก็แพ้ตลอด เหมือนเป็นหมูในอวยที่เวลาไปสนามไหนเขาก็เรียกลงไปเตะ เพราะรู้ว่าเอาชนะเราได้แน่ๆ”
“ตอนนั้นยิ่งแพ้ผมยิ่งซ้อม แพ้เสร็จกลับมาซ้อมเช้าเที่ยงเย็น ซ้อมทุกวันไม่มีพัก บางครั้งก็ซ้อมคนเดียวเพราะเรามาขนาดนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถหาเงินกับมันได้ ผมก็ต้องพยายามต่อไป”

แชมป์ประเทศไทย
จากเด็กที่ไม่ได้มีพรสวรรค์เหมือนใคร แต่ความที่หัวใจของ “เก่ง” พร้อมจะสู้กับทุกอุปสรรคที่เข้ามา ความพยายามที่ไม่เคยลดลงทำให้เจ้าตัวพัฒนาฝีมือจนเริ่มได้ลงแข่งขันมากขึ้น และแม้ว่าจะพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความพยายามก็ได้พาเขาไปสู่ความสำเร็จในที่สุด หลังจากที่ผนึกกำลังกับเพื่อนร่วมทีมพาทีมตะกร้อแห่งค่ายบ้านบะขาม จ.ขอนแก่น คว้าแชมป์ถ้วยพระราชทาน ม.ว.ก. ครั้งที่ 40 ประจำปี 2561
“ในตอนที่ได้แชมป์ประเทศไทยตอนนั้นก็ดีใจมากครับ มันเหมือนเราเริ่มได้ผลตอบแทนของความพยายาม แต่หลังจากนั้นสิ่งที่ผมคิดคือ ทำยังไงผมจะเก่งกว่าเดิม ผมจะไม่หยุดแค่ตรงนี้ เพราะมันเป็นแชมป์รุ่นอายุ 20 ปี มันเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ผมจะต้องไปให้ไกลกว่านี้”
หลังจากสร้างชื่อด้วยพาทีมบ้านบะขามคว้าแชมป์ระดับประเทศไทยได้สำเร็จ ชื่อของ “เก่ง บ้านบะขาม” ถูกจับตามองมากขึ้น แม้จะประสบความสำเร็จในสังเวียนสนามระดับประเทศ แต่เจ้าตัวที่เลือกเส้นทางการเดินสายเตะชิงเงินรางวัล ก็ยังต้องได้รับการพิสูจน์ จากวันที่เล่นตะกร้อเดินสายตอนที่อยู่ จ.ขอนแก่น ได้เงินเพียงไม่กี่พัน แต่เขากำลังจะมีโอกาสคว้าเงิน 5 หมื่นบาท ในการเล่นตะกร้อเพียงแค่เซตเดียว

ฝันที่ยังรอคอยของ “เก่ง บ้านบะขาม”
ในวัย 23 ปี “เก่ง” กลายมาเป็นเสาหลักของครอบครัว “ทิพวงศ์” แม้จะพิสูจน์ตัวเองได้ในเวทีตะกร้อเดินสาย แต่สิ่งที่เขายังฝันไว้คือการได้รับราชการเป็นตำรวจ ที่เป็นความหวังครอบครัว
“ความฝันตอนนี้ผมก็อยากจะรับราชการเป็นตำรวจ เพราะครอบครัวผมก็อยากจะมีลูกชายรับราชการ จะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มมีโอกาสแล้วเพราะได้รับการทาบทามมาจากสโมสรตำรวจ แต่ในตอนนี้ผมก็พยายามสร้างผลงานให้กับเขาให้ได้ก่อน”
“ส่วนความฝันสูงสุดของนักตะกร้อทุกคนแน่นอนว่าการติดทีมชาติไทย แต่สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ผมจะต้องดีกว่านี้ เก่งกว่านี้ให้ได้ เพราะถ้าเราจะไปยืนอยู่จุดนั้นได้เรายังต้องพิสูจน์อะไรอีกมาก แต่คำเดียวที่ผมยังท่องมาจนถึงวันนี้ คือ ท้อได้แต่ห้ามถอย ผมยังพร้อมสู้เหมือนกับวันแรกที่ผมฝึกเล่นตะกร้อ ผมยังอยากจะเก่งกว่านี้ และเมื่อโอกาสมาถึง ผมจะคว้ามันไว้ให้ได้”